8 สาเหตุ ปัสสาวะเล็ด ปัญหาที่ไม่เล็กของสูงวัย

8 สาเหตุ ปัสสาวะเล็ด ปัญหาที่ไม่เล็กของสูงวัย


การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุมักจะพบเจอ เช่น ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะรดที่นอน ปัสสาวะรั่วเมื่อไอจาม รู้สึกอยากปัสสาวะตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อปวดปัสสาวะจะต้องเข้าห้องน้ำทันที ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก


สาเหตุ



1.  อายุที่เพิ่มขึ้น 

เมื่อผู้สูงอายุหญิงที่มีระบบการทำงานของร่างกายเสื่อมลง เช่น ฮอร์โมนที่ลดลง มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน การบีบรัดของกล้ามเนื้อหูรูดเสื่อม อาจทำให้มีปัสสาวะเล็ดระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ จนไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ได้

2. อาหารที่กิน  

หากผู้สูงอายุมีการชื่นชอบการกิน-ดื่มกาแฟ ชา และอาหารที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ช็อกโกแลต น้ำอัดลม จะกระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อย หากมีอาการปัสสาวะเล็ดจากอาหารเหล่านี้ควรหยุดกินทันที

3. โรคอ้วน 

น้ำหนักตัวที่มากขึ้น เมื่อผู้สูงอายุเป็นโรคอ้วนที่มีน้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไป จะก่อให้เกิดไขมันทับบริเวณท้องน้อย เพิ่มแรงบีบต่อกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น จนทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมาได้บ่อยครั้ง

4. โรคประจำตัว

เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโตเรื้อรัง ซึ่งผู้สูงอายุที่เป็นโรคเหล่านี้จะพบปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะมากจนไหลล้นออกมาเอง ทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดบ่อยได้

5. ภาวะต่อมลูกหมากโต 

เมื่อผู้สูงอายุชายมีอายุที่มากขึ้น ต่อมลูกหมากที่อยู่ใต้ท่อกระเพาะปัสสาวะเมื่อมีขนาดใหญ่ผิดปกติ จนทำให้พื้นที่กักเก็บปัสสาวะลดลงส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยและเล็ดได้

6. การเดินในแต่ละวัน 

ผู้สูงอายุเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจกรรมต่าง ๆ จะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเข่า ทำให้มีการลุกนั่งเดินลำบาก เมื่อปวดปัสสาวะกระทันหันอาจเข้าห้องน้ำได้ไม่ทัน ปัสสาวะอาจเล็ดออกมาก่อนได้

7. ยกของหนัก 

ในแต่ละวันบางครั้งผู้สูงอายุต้องอาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง เมื่อทำกิจกรรมที่ยกของหนัก เช่น ยกสิ่งของที่ไปจ่ายตลาด กระเพาะปัสสาวะเกิดแรงบีบจากการยกของหนัก ทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมาได้

8. ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 

หากผู้สูงอายุเกิดการอักเสบบริเวณกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ จะเกิดอาการปวดท้องน้อย และปัสสาวะไม่สุด  ทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมาระหว่างวันขณะทำกิจกรรมได้


แนวทางการรักษา


1. อาหารที่ควรรับประทาน 

โดยผู้สูงอายุควรกินอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง อะโวคาโด กล้วย มะละกอ เพื่อลดปัญหาท้องผูก

2. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม

ผู้สูงอายุจะควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที เพื่อช่วยลดน้ำหนักและช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น

3. หลีกเลี่ยงการยกของหนักบ่อย ๆ  

เมื่อผู้สูงอายุมีความจำเป็นจะต้องยกของหนัก ควรหลีกเลี่ยงในการยกด้วยตัวเองและให้บุคคลรอบข้างคอยช่วยเหลือ เพื่อลดปัญหาปัสสาวะเล็ดเรื้อรังได้

4. ฝึกขมิบช่องคลอด 

การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน จะช่วยให้กระเพาะปัสสาวะที่บีบตัวกะทันหันให้คลายตัว โดยขมิบประมาณ 5 วินาที หยุดขมิบ 10 วินาที และทำซ้ำเช่นนี้ 10 ครั้ง วันละ 3 เวลา ในตอนเช้า กลางวัน เย็น และทำให้เป็นประจำ

5. ดื่มน้ำให้เพียงพอ 

ผู้สูงอายุจะต้องดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว ไม่ควรดื่นน้ำน้อยหรือมากเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาร่างกายขาดน้ำและปัสสาวะเล็ดบ่อยครั้ง

6. เครื่องดื่มที่ควรดื่ม  

หากผู้สูงอายุชื่นชอบเครื่องดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ควรลดปริมาณการดื่มลงทีละน้อยจนให้ร่างกายเคยชินหรือเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำผัก-ผลไม้ นมถั่วเหลือง น้ำสมุนไพรทดแทน 


บรรณานุกรม


นพ. มฆวัน ธนะนันท์กูล. (2561). หยุดปัญหากวนใจ ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงวัย. ค้นจาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/

กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2564). 5 เครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ดื่มง่าย ได้สุขภาพ. ค้นจาก https://www.dop.go.th/th/gallery/1/3671