5 อาการเตือนโรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ

5 อาการเตือนโรคซึมเศร้าในวัยผู้สูงอายุ



อาการที่พบ


1. อารมณ์เปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย ขี้บ่น ไม่มีเหตุผล ขี้วิตกกังวลจนทำให้คนรอบข้างลำบากใจ

2. พูดน้อยลง เฉื่อยชา ไม่ค่อยตอบสนอง

3. มีปัญหาเรื่องการนอน เช่น นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือมีการนอนมากเกินไป บางกรณีมีอาการนอนฝันร้ายติดต่อกันบ่อย ๆ

4. มีการรับประทานอาหารผิดปกติ ผู้สูงอายุบางรายมีการเบื่ออาหาร ซูบผอมลง บางรายก็กินมากเกินไป ทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

5. มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิต อยากทำร้ายตัวเอง ชอบประชดชีวิตตัวเอง รู้สึกผิดมากกว่าปกติ


 


โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เกิดจาก


1. ด้านร่างกาย

เมื่อผู้สูงอายุมีความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ความจำแย่ลง การได้ยินลดลง สายตาแย่ลง โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงต้องพึ่งพาผู้อื่น

2. ด้านอารมณ์ และจิตใจ

เกิดจากการปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว หรือการเผชิญกับความสูญเสียและการพลัดพรากของคู่ชีวิต ญาติสนิทหรือเพื่อนฝูง เกิดความเหงา ขาดที่พึ่งทางใจ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวมากขึ้นจากเดิม ต้องการความดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างมากขึ้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ได้รับไม่เพียงพอ อาจก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตขึ้นมาได้

3. ด้านสังคม

เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ผู้สูงอายุจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังเริ่มเป็นภาระของครอบครัว และสูญเสียสมาคมกับเพื่อนฝูงไปเพราะไม่สะดวกเดินทางและปัญหาทางสุขภาพ

4. ด้านโรคประจำตัว

ในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หายขาด ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจ และรู้สึกเบื่อหน่ายในการรักษาที่ยืดเยื้อ ยุ่งยาก ผู้สูงอายุจึงไม่ยอมให้ความร่วมมือ ทำให้อาการที่เป็นอยู่ทรุดลง


วิธีการรักษา


1. การรักษาโดยใช้ยา 

  ในผู้สูงอายุที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น มีความคิดที่อยากฆ่าตัวตาย แพทย์อาจมีการใช้ยาต้านเศร้าในระดับอ่อน ๆ ก่อน เพื่อลดความกังวลให้อารมณ์แจ่มใสขึ้น และต้องมีการเข้าพบแพทย์สม่ำเสมอ

2. การรักษาทางจิตใจ 

  โดยให้ผู้สูงอายุเข้าพบแพทย์เพื่อให้คำปรึกษา ช่วยให้ผู้สูงอายุปรับเปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้มากยิ่งขึ้น อาศัยการปรับตัวของบุคคลรอบข้างให้ความเอาใจใส่ ไม่ทิ้งผู้สูงอายุไว้ลำพัง ควรมีใครไว้คอยดูแลเสมอ ไม่ควรมองว่าโรคซึมเศร้าจะหายเองได้


แนวทางการป้องกัน


1. บุคคลรอบข้างไม่ควรโต้เถียงหรือโวยวาย ในเวลาที่ผู้สูงอายุมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว อาจทำให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัวต่อทั้งสองฝ่ายได้ ควรจะรับฟังและชวนพูดคุยต่อในเรื่องที่สนุกสนาน ไม่เครียดมาก

2. พยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวร่างกายทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดความกังวลเรื่องสุขภาพ

3. ไม่ควรให้ผู้สูงอายุนอนในเวลากลางวันมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน เช่น หลับยากขึ้น นอนไม่หลับ ในรายที่มีอาการง่วงมากควรนอนกลางวันไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง

4. ผู้สูงอายุที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ควรกระตุ้นให้กินมากขึ้น เช่น กินทีละน้อยแต่ให้กินบ่อยครั้งขึ้นหรือกินอาหารที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ

5. เปิดใจพูดคุยกับผู้สูงอายุ การพูดคุยจะทำให้ผู้สูงอายุได้บอกเล่าปัญหาหรือระบายความทุกข์ใจ ซึ่งจะทำให้บุคคลรอบข้างเข้าใจผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น


บรรณานุกรม


โรคซึมเศร้าในผู้สูงวัย เรื่องที่ลูกหลานควรใส่ใจเป็นพิเศษ. (2564). ค้นจาก https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/100

เมื่อผู้สูงอายุในบ้านเป็น 'โรคซึมเศร้า' เราจะดูแลอย่างไร. (2562). ค้นจาก https://www.posttoday.com/life/healthy/610306